Tag Archives: music

A new set of strings

เพิ่งไปซื้อสายกีต้าร์ชุดใหม่มา ใช้รุ่นเดิมนี่แหละ เห็นความเปลี่ยนแปลงของแพ็คเกจตรงซองสายจากเดิมเป็นซองกระดาษแยก เดี๋ยวนี้ห่อมารวมกันหมดในซองพลาสติก พร้อมกับแปะว่า Environmentally Friendly Set แถมเก็บสะสมแพ็คเกจสินค้าไปแลกของได้อีก ประมาณว่าลดขยะ

มานั่งดูตาราง tension

สาย 1 J4901 6.94 kg
สาย 2 J4902 5.26 kg
สาย 3 J4903 5.49 kg
สาย 4 J4904 7.08 kg
สาย 5 J4905 6.80 kg
สาย 6 J4906 6.35 kg

สาย 4 จะตึงกว่าเพื่อน เลขไม่ต่างกันกับสายอื่นมากนัก แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมา สาย 4 เป็นสายเดียวที่ขาด ที่ต้องเปลี่ยนสายทั้งชุดก็เพราะสาย 4 ขาดนี่แหละ :P

/me .. Eterna EC-15 (15+ ปี) + D’Addario Pro-Arte EJ49

Nodame Cantabile

หนึ่งหนุ่มหนึ่งสาวบังเอิญได้มาอยู่ห้องข้างๆ กัน ทั้งคู่เหมือนกันตรงรักดนตรีคลาสสิคและเป็นคนมีพรสวรรค์ทางดนตรี ฝ่ายชายสุดหล่อพ่อรวยเก่งรอบด้านเพอร์เฟคจนไม่รู้ตัวว่าขาดสิ่งสำคัญที่จะทำให้ตัวเองก้าวไปสู่ความสำเร็จในฐานะวาทยกร ในขณะที่ฝ่ายสาวตรงข้ามกับชายหนุ่มแทบทุกอย่าง เพ้อฝัน ซกมก ตะกละ และมั่วนิ่มไปทุกเรื่อง แต่ด้วยพรสวรรค์ระดับหูเทพ เธอสามารถเล่นเปียโนตามได้ด้วยการฟังครั้งเดียวโดยไม่ต้องดูสกอร์ จริงๆ แล้วเธอชอบเล่นตามใจตัวเองมากกว่าตามสกอร์ ถึงจะไพเราะและสร้างความประหลาดใจอยู่บ่อยครั้ง แต่ดนตรีของเธอออกจะมั่วๆ หากวัดตามบรรทัดฐานที่เคร่งครัดของดนตรีคลาสสิค

ด้วยเหตุผลบางประการชายหนุ่มโคตรเพอร์เฟคไม่สามารถเดินทางออกนอกญี่ปุ่นได้ เขาจึงท้อแท้เพราะคิดว่าเก่งแค่ไหนก็ไม่มีทางโกอินเตอร์ได้ และบังเอิญอีกว่า เป็นวาทยกรระดับโลกที่สังเกตเห็นพรสวรรค์ของทั้งสองคน เขาตัดสินใจสอนให้ทั้งสองคนรู้จักดนตรีมากขึ้นไปอีก และผลักดันให้ทั้งสองก้าวไปให้ไกลกว่าที่เป็นอยู่ และคงไม่ได้สอนอย่างมีแบบแผนแน่ๆ เพราะอีกด้านหนึ่งของวาทยกรระดับโลกนี้เป็นตาแก่จอมลามกสุดๆ ด้วย ..

สรุปแล้ว เรื่องนี้เจ๋งมากๆ เจ๋ง 360 องศา ความสนุกสนาน แรงบันดาลใจ ดนตรีคลาสสิคเพราะๆ .. และ ฮาโคตรๆ :D

Nodame Cantabile ตัวต้นฉบับเป็นการ์ตูนในชื่อเดียวกันนี้แต่งโดย Tomoko Ninomiya เป็นการ์ตูนที่ได้รางวัล Kodansha Manga Award ในปี 2004 นอกจากเวอร์ชัน manga แล้วยังมี anime และซีรีส์ live action ที่เพิ่งออกอากาศเมื่อปลายปีที่แล้ว ในมุมหนึ่ง Nodame Cantabile มักได้รับการเปรียบว่าเป็น Swing Girls ที่ใช้ดนตรีคลาสสิคแทนแจ๊ส พอทำเป็นซีรีส์หลายตอน มิติมันก็ได้ละเอียดลึกกว่า มีมุมที่รอบด้านกว่า Swing Girls ที่เป็นภาพยนตร์ … ที่ต้องให้เครดิตทั้งสองเรื่องคือไม่ใช่แค่เอาดนตรีมาเป็นเครื่องมือในการสร้างโครงของบทแล้วโดนองค์ประกอบอื่นเบียดจนจมหาย ทั้งสองเรื่องใส่ใจกับแก่นของดนตรีอย่างพอเหมาะ แม้จะฮา ก็มีดนตรีดีๆให้ฟังได้อิ่มพอ มีสาระดนตรีที่ทำให้ผู้ชมอินไปกับมันได้ ประกอบกับได้นักแสดงฝีมือดี ผลคือ Nodame Cantabile และ Swing Girls กวาดรางวัลมาเพียบ

สำหรับคนชอบดนตรีคลาสสิค ตัวอย่างเพลงเด่นๆ เท่าที่จำได้ (ก่อนจะเพลินจนลืม) ก็มี

  • Symphony No.7 และ No.9 ของ Ludwig Van Beethoven
  • Rhapsody in Blue ของ George Gershwin
  • Piano Concerto No.2 ของ Sergei Rachmaninoff
  • Fantasies Impromptu ของ Frederic Francois Chopin
  • Violin Concerto ของ Felix Mendelssohn
  • Symphony No.1 ของ Johannes Brahms
  • Caprice No. 24 ของ Niccolo Paganini … เวอร์ชันในเรื่องน่าจะเป็น Paganini Variations Op.35 ของ Brahms สำหรับเดี่ยวเปียโน

ถ้าจำไม่ผิด น่าจะมีของ Mozart กับ Massenet ปนๆ อยู่ แถมด้วยเวอร์ชันออร์เคสตร้าของเพลง Love of My Life ในอัลบัม Supernatural ของ Carlos Santana .. :P

หามาดูนะท่านๆ ทั้งหลาย … ถ้ายังไม่เคยดู Swing Girls ก็ไปหามาดูด้วยเหมือนกัน .. แนะนำๆ …

Credit to น้องฝ้าย (เจ้าลัทธิ)

The Jazz King

เพื่อนส่งซีดี The Jazz King มาให้ในวันปีใหม่ ถูกใจหลายๆ

แผ่น The Jazz King ประกอบด้วยเพลงพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 9 เพลง ได้แก่ อาทิตย์อับแสง แสงเทียน ชะตาชีวิต ยามเย็น ค่ำแล้ว แสงเดือน ไกลกังวล ดวงใจกับความรัก และ แก้วตาขวัญใจ ทุกเพลงได้รับการเรียบเรียงใหม่โดย ลาร์รี คาร์ลตัน บรรเลงโดย ศิลปินแจ๊สแนวหน้าหลายคน อาทิ แลร์รี คาร์ลตัน (กีต้าร์) เนธาน อีสต์ (เบส) ฮาร์วี เมสัน (กลอง) ทอม สก็อต (แซ็กโซโฟน) เจฟ เบ็บโก้ (คีย์บอร์ด) .. มี เอิร์ล คลูห์ (กีต้าร์) มาแจมหนึ่งเพลง .. มิเชลล์ พิลลาร์ มาขับร้องเพลงค่ำแล้วเวอร์ชันภาษาอังกฤษ และปิดท้ายด้วยเพลง Celebration ประพันธ์ขึ้นมาใหม่โดย แลร์รี คาร์ลตัน ในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี

ภาพรวมทั้งอัลบั้มอาจจะเป็นแจ๊สที่ติดบลูส์สักหน่อยตามต้นฉบับเพลงพระราชนิพนธ์ที่นำมาเรียบเรียงใหม่ ประกอบกับเป็น แลร์รี คาร์ลตัน เข้าไปอีก แต่ไม่ใช่ว่าจะใส่บลูส์ลูกเดียว สำเนียงแจ๊สแนวอื่นๆ ก็ปรากฏเจืออยู่ด้วย .. ถ้าไม่ยึดติดกับบริบทเดิม ชอบสไตล์ แลร์รี คาร์ลตัน อยู่แล้วก็น่าจะชอบอัลบั้มนี้ได้ไม่ยาก ..

/me อัลบั้มนี้ชอบเพลง แสงเทียน ยามเย็น กับ ไกลกังวล …โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง :D

DOObaDOO

ซื้อมาจนได้ นับเป็นซีดีเพลงไทยในรอบปีของผม .. ดูบาดู ประกอบด้วยสมาชิกสองคน คือ ลูกหว้า – พิจิกา จิตตะปุตตะ จบนิเทศฯ จุฬาฯ อดีตนักร้องของ CU band เคยเป็นนักร้องรับเชิญ ประสานเสียง อัดจิงเกิ้ลโฆษณามากมาย ผลงานที่ผ่านมารับประกันได้ว่า เธอร้องเพลงและใช้เสียงเป็น มากกว่านักร้องอีกหลายคน .. สมาชิกอีกคนคือ โอ๋ – เจษฏา สุขทรามร จบ ครุฯ ดนตรี จุฬาฯ เป็นรุ่นพี่ของลูกหว้า เคยเล่นตำแหน่งดับเบิลเบสใน CU band .. บอกชื่อนี้ไปก็ไม่รู้จักกันเท่าไหร่ แต่ถ้าบอกว่า โอ๋ ซีเปีย เจ้าของเพลง เกลียดตุ๊ด อันลือลั่น หลายคนคงร้องอ๋อ .. อัลบั้ม EP ของซีเปียชุดแรกนั้นอาจจะทำให้ภาพของ โอ๋ ออกไปในทางดิบๆ เถื่อนๆ แนวๆ .. หลายคนคงไม่ค่อยรู้ว่า โอ๋ ซีเปีย เป็นนักเรียบเรียงเสียงประสานที่เก่งมากคนนึงของเมืองไทย เคยช่วยและศึกษางานกับ ดนู ฮันตระกูล อยู่พักนึง เรียบเรียงเสียงประสานให้ BSO ไหมไทย CU Symphony Orchestra จนถึงอัลบั้มพิเศษ Grammy Light Orchestra ของแกรมมี่ เรียบเรียงเสียงประสานเพลงชาติไทย 2 ใน 5 version รวมถึงเป็นโปรดิวเซอร์เบื้องหลังให้นักร้อง ศิลปินอีกมากมายเกือบทุกค่ายเพลง (ส่วน ปาเดย์ – ภาณุ กันตะบุตร มือเบสมาดเถื่อนของซีเปีย นั่นก็ใช่ย่อย มือปืนเบส ฝีมือดีของวงการเหมือนกัน)

เคยอ่านบทสัมภาษณ์ โอ๋ ซีเปีย เมื่อนานมาแล้ว เขาบอกว่าการทำงานเพลงดูโอกับนักร้องหญิงเป็นความไฝ่ฝันของเขา .. หลายปีก่อนเกือบจะได้ร่วมงานกับ ชมพู่ ละอองฟอง แต่เพราะชมพู่มีวงอยู่แล้วเลยพลาดไป ..ครั้งที่สองได้เจอ เสาวนิตย์ นวพันธุ์ นักร้องเสียงดี ดีกรีดนตรีจากนอก แต่งเพลงเก่งด้วย หลังจากทำเดโมไปเสนอ แกรมมี่ก็ดูดเสาวนิตย์ไป เขี่ยเดโมกับโอ๋ทิ้ง .. ดูบาดูนี้น่าจะเป็นความพยายามครั้งที่สามที่จะทำตามความไฝ่ฝัน โอ๋กะว่าถ้าไม่มีค่ายก็จะลงทุนทำเอง ก็พอดีคุยกับก้านคอคลับของโจอี้บอยรู้เรื่อง ดูบาดูเลยออกมาเป็นรูปเป็นร่างอย่างที่เห็น

ดูบาดู เสนอเพลงในแนว แจ๊ส สวิง คูล บ็อพ เป็นแกนหลัง เรียกว่างานนอกกระแส หรือหลุดกระแสไปเลย .. ลูกหว้าจะเป็นคนออกแบบเสียงร้อง ส่วนโอ๋ดูแลดนตรี เครื่องดนตรีส่วนใหญ่จะมี กลอง ดับเบิลเบส และกีต้าร์ (หลายแบบ แบบแปลกๆ ด้วย) บางเพลงมีเครื่องสาย เครื่องเป่า ออร์แกน เปียโน มาร่วมด้วย .. เสียงกลองกับดับเบิลเบสใช้การโปรแกรมเอา (ยกเว้น เพลงหน้าหนาวเอาปาเดย์มาเล่นเบส เพลงวินาทีเอาวิทยา ปานพุ่มมาตีกลอง) ..

แยกเพลง มิอาจวิจารณ์ บอกได้แต่ความรู้สึกตามนี้

  1. เก็บกระเป๋า – สวิง เพลงนี้ฟังแรกๆ ก็ธรรมดา แต่สักพักก็พบว่ามันเท่ห์ดี เรียบง่าย สบาย สงบเสงี่ยม
  2. ไม่ใช่ผู้ชาย – เพลงเร็ว เปิดตัว เนื้อหาน่ารักในตัวอยู่แล้ว สมแล้วที่ต้นคิดมาจาก โน้ส อุดม ได้ทรัมเป็ตมาสร้างเสียงสนุกๆ ในแนว Dixieland ดนตรีเต้นรำเสริมกันเข้าไปอีก
  3. วินาที – เห็นเพลงนี้เอา วิทยา ปานพุ่ม มาตีกลอง เลยออกจะตั้งใจฟังกลองเป็นพิเศษ .. ชอบเพลงนี้ที่สุดในอัลบั้มนี้ (ตอนนี้นะ)
  4. สุขุมวิท – แจ๊ส/บลูส์ เพลงเร็วไม่ต้องบ้าพลังก็ได้ มีสแก็ตสั้นๆ โซโลสนุก เล่นสดน่าจะมันส์ :)
  5. เมื่อคืนนี้ – สวิง/สโลว์ อารมณ์คิดถึงอย่างแรง เพลงนี้มีเครื่องสายมาเสริม ชวนให้นึกถึง Grammy Light Orchestra เสียดายที่เครื่องสายไม่สด
  6. คุณผู้ฟังที่รัก (หลังไมค์) – เพลงช้า เปิดตัว นี้เนื้อหากุ๊กกิ๊กดี ดนตรี-เสียงร้อง sexy เป็นบ้า ตั้งใจฟังเพลงนี้ดีๆ จะได้ยินลูกเล่นที่ใส่ไว้ (ไม่รู้ตั้งใจหรือเปล่า ;p)
  7. หน้าหนาว – เสียงร้อง กับ เปียโน และ เฟร็ตเลสเบส .. หลับตาฟังแล้วขนลุกเลย อีกคนที่น่าจะร้องได้แบบนี้คือ แอน คูณสามฯ
  8. ฝนจ๋า – สวิง สมเป็นเพลงชื่อฝน
  9. ขอ – Duet เสียงร้องกับกีต้าร์ .. ทึมๆ หม่นๆ เกือบจะ west coast ชอบเพลงนี้พอๆ กับ วินาที
  10. คุณนายมะขาม – บีบ็อพครับ ช็อคไปเลย .. ร้องเร็วมาก ไม่หลง ไม่หลุด ทำได้ไง (- -‘) .. ฟังน้ำเสียงในเพลงนี้ดีๆ ร้ายจริงๆ :)

รวบยอด ปกติผมไม่ชอบฟังเพลงร้อง โดยเฉพาะเพลงไทย แต่ ดูบาดู นี่ทำให้ได้ฟังเสียงร้องอย่างมีความสุข เพลงอัลบั้มนี้ร้องยากพอสมควรเลย แล้วลูกหว้าก็ร้องได้ดีมาก มีระเบียบ สมกับได้รับการฝึกฝนมาดี .. ดนตรีฝีมือ โอ๋ ซีเปีย เจ๋ง accompany ให้นักร้องอย่างที่ควรจะเป็น นักร้องได้แสดงศักยภาพเต็มที่ (อยากฟังเสาวนิตย์ ไม่ก็รัดเกล้า ร้องแบบนี้บ้าง) .. ขณะเดียวกันดนตรีก็มีความโดดเด่นในตัวเอง แม้ว่าจะใช้ดนตรีสังเคราะห์เป็นส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ขัดหูหรือแข็งกระด้างจนน่าเกลียด ถ้าไม่ใช้เครื่องดนตรีสังเคราะห์น่าจะยิ่งดี .. สรุป ไม่ซื้อฟังแล้วจะเสียใจ

/me .. ความเห็นส่วนตัว bias .. ผิดๆ ถูกๆ .. ช่วยไม่ได้ :P

อ่าวไทยในบริบทของการพัฒนาลินุกซ์ทะเล

วันนี้ MrChoke แจ้งมาว่า อัปโหลดอ่าวไทยขึ้นเซิร์ฟเวอร์แล้ว มี X.org และ GNOME แล้ว .. ขาดเคอร์เนล .. ส่วน KDE ตัวใหม่เห็นว่าได้มาแล้ว แต่ยังไม่เริ่มทำเข้าอ่าวไทย …

เผื่อใครผ่านมาแถวนี้แล้วยังไม่รู้จัก อ่าวไทย (Aow Thai) เป็น unstable / testing branch ของ TLE .. เทียบได้กับ Rawhide ของ Red Hat หรือ Sid / Sarge ของ Debian .. อ่าวไทยนี้จะใช้สำหรับ unstable / testing ไปตลอด ไม่มีการเปลี่ยน ไม่มีการกำหนดเลขเวอร์ชันกำกับ ..ชื่อ “อ่าวไทย” ไม่ได้ตั้งกันลอยๆ หากแต่มีที่มาจากการพัฒนา TLE นี่เอง .. การพัฒนาดิสโตรเป็นการรวมรวมซอฟต์แวร์มาประกอบกันเป็นระบบที่ใช้งานได้ .. ดิสโตรแทบทุกตัวมีจุดเริ่มต้นเหมือนกัน คือจากโครงการซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Kernel XFree86 X.org GNOME KDE .. ร่ายยาวมาจนถึงแอพพลิเคชัน อย่าง Mozilla Evolution Gaim ฯลฯ .. ในทีมพัฒนาจึงมีคำเรียกโครงการเหล่านี้ว่าเป็น “ต้นน้ำ” ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดสายน้ำน้อยใหญ่หลายร้อยสาย บ้างก็ไหลมารวมกัน (merge / require / depend) หรือบางครั้งก็ไหลแยก (fork) ออกจากกัน .. แต่ท้ายที่สุดน้ำทุกสายก็ไหลมารวมกันที่ “อ่าวไทย” และไหลออกสู่ “ทะเล” ต่อไป :)

อืมม .. เสาร์อาทิตย์นี้วางแผนจะทำงานอะไรบางอย่างแล้ว .. ไว้สัปดาห์หน้าคงได้เริ่ม rebuild unstable บนอ่าวไทยกัน :)

นอกเรื่อง .. ได้เพลงของธีโลเนียส มองค์ (Thelonious Monk) มาฟังสามอัลบั้ม ..เช่นเคย มองค์มักเลือกโน้ตที่แปลกๆ เหมือนไม่เข้ากับคอร์ด เสียงเปียโนของมองค์จึงมีสำเนียงแปร่งๆ จังหวะมักคร่อมเหมือนจะหลุดแต่ไม่หลุด .. โดยส่วนตัว ชอบ .. แต่ไม่ถูกใจเท่าบิลล์ อีแวนส์ .. อ่อ ได้เพลงของ ออร์เน็ต โคลแมน (Ornette Coleman) มาฟังด้วย .. ปวดหัวแน่ๆ .. พรุ่งนี้จะเล่าอาการให้ฟัง .. ลอล