โทสัคติ

สมัยก่อน ตามแถบชานเมืองหรือตามชนบทในประเทศเรา มักจะนิยมฟังพระเทศน์แบบหลายธรรมมาส เช่น 2 หรือ 3 ธรรมมาส ในทำนองปุจฉา วิสัชนา ถาม ตอบกัน มากกว่าจะฟังพระเทศน์องค์เดียวแบบในปัจจุบัน

เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 50-60 ปีมาแล้ว แถบชานเมืองกรุงเทพฯ นี่เอง วันนั้นชาวบ้านต่างนิมนต์พระที่ได้ชื่อว่าเป็นนักเทศน์ที่ตนเองชื่นชอบมาแสดงธรรมเรื่อง “อาทิตตปริยายสูตร” โดยพระทั้งสามรูปต่างก็ไม่รู้จักกันมาก่อน สมัยนั้น ขอให้ทราบว่าจะเทศน์เรื่องอะไรเท่านั้น ท่านก็สามารถแสดงธรรมได้ โดยใช้ความสามารถและปฎิภาณของตนเองซักไซ้ไล่เรียงจนผู้ที่นั่งฟังรู้แจ่มแจ้งก่อนเทศน์ พระท่านก็จะมีการสมมุติมอบหมายหน้าที่กัน ปกติองค์กลาง จะรับหน้าที่เป็นผู้ถาม ซักไซ้ไล่เรียง ที่เหลือองค์ซ้ายและองค์ขวาจะมีหน้าที่วิสัชนา ตอบชี้แจงให้เข้าใจ องค์กลาง เมื่อรับหน้าที่ ก็ดำเนินการซักถามองค์ซ้ายมือก่อนเกี่ยวกับเรื่อง “ไฟคือราคะ” ทั้งสององค์ซักถามโต้ตอบกันด้วยปฎิภาณเป็นที่เฮฮาถูกใจญาติโยมเป็นอย่างยิ่งจากนั้น ท่านองค์กลางก็หันมาถามท่านองค์ขวามือ ขอให้วิสัชนา “โทสัคติ” ไฟคือโทสะว่าเป็นอย่างไร ท่านองค์ที่สามนั่งฟังท่าน 2 องค์แรกโต้ตอบกันอย่างเงียบๆ โดยดุษฎี พอถูกถามว่าโทสะคืออะไร แทนที่ท่านจะเจื้อยแจ้วเทศน์ตามธรรมเนียม ท่านกลับนั่งนิ่งเงียบ ได้แต่จ้องมองดูท่านองค์กลางอย่างไม่วางตา สร้างความอึดอัดให้กับท่านองค์กลาง และญาติโยมเป็นอย่างยิ่ง สักพักท่านองค์ที่สามก็เอ่ยเสียงต่ำๆ ไม่ดังนักว่า

“ส้นตีน !” แล้วจ้องตาเป๋งไปที่ท่านองค์กลาง

ทุกคนตกตลึงไปหมด ท่านองค์กลางหน้าตาแดงก่ำไม่ยอมสบตากับใคร นั่งกระสับกระส่ายอยู่บนธรรมมาส ครู่หนึ่งพอสมควรแก่เวลาแล้ว ท่านองค์ที่สามก็เทศน์วิสัชชนาเกี่ยวกับไฟคือโทษะต่อไปอย่างหน้าตาเฉย

คำสั้นๆ เพียงคำเดียว แสดงความหมายได้อย่างชัดเจน แนวการสอนแบบเซ็น จะใช้วิธีพุ่งเข้าหาจุดหมายโดยไม่ใช้วิธีการอ้อมค้อมให้เสียเวลา ท่านคิดว่าท่านมั่นคงและกล้าพอที่จะรับการสอนแบบนี้ได้หรือยัง ?