อินเทอร์เน็ตกับความเป็นส่วนตัว

คอมพิวเตอร์ของคุณเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตอยู่หรือเปล่า ? ถ้าใช่.. ชีวิตส่วนตัวของคุณอาจหายไปในพริบตา!

ประมาณ สองปีก่อน สก็อตต์ แมคนีลลี ประธานบริษัท ซัน ไมโครซิสเต็ม เคยกล่าวไว้ว่า “ถ้าคุณใช้อินเทอร์เน็ต คุณไม่มีทางได้ความเป็นส่วนตัวหรอก ดังนั้นทำใจเสียเถอะ” คำกล่าวนี้อาจจะเป็นการมองในแง่ร้ายมากไปสักหน่อย แต่หลังจากนั้นไม่นานนักก็มีข่าวการจับกุมแคร็กเกอร์ชาวรัสเซียที่เจาะเข้า เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซเพื่อขโมยหมายเลขบัตรเครดิตของลูกค้า และเร็วๆ นี้ ไมโครซอฟต์ออกมายอมรับว่าระบบปฏิบัติการวินโดวส์ 2000 ทุกเวอร์ชันมีปัญหาด้านความปลอดภัย ซึ่งเป็นช่องโหว่ที่ทำให้แคร็กเกอร์สามารถเจาะเข้าควบคุมหรือโจรกรรมข้อมูล จากเครื่องคอมพิวเตอร์ได้ไม่ยาก ไมโครซอฟต์แนะนำให้ผู้ใช้งานระบบปฏิบัติการวินโดวส์ 2000 ทุกเวอร์ชันให้ดาว์นโหลดโปรแกรมแก้ไขและทำการปิดช่องโหว่เร็วที่สุดเท่าที่ จะทำได้

ดูเหมือนว่าปัญหาเรื่องความเป็นส่วนตัวบนอินเทอร์เน็ตจะกลาย เป็นเรื่องใหญ่ขึ้นทุกวัน จากการสำรวจของนิตยสารไทม์พบว่าผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต 61 เปอร์เซ็นต์ต่างกังวลว่าข้อมูลส่วนตัวจะรั่วไหลผ่านทางอินเทอร์เน็ต และอันที่จริงแล้ว ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอย่างเราๆ ท่านๆ อาจจะไม่รู้มาก่อนเลยว่า เวลานี้ข้อมูลส่วนตัวของคุณบางอย่างได้รั่วไหลออกไปในอินเทอร์เน็ตแล้ว อย่างน้อยที่สุดก็ผ่านทางการเยี่ยมชมเว็บไซต์หลายๆ แห่งที่มีอยู่ทั่วทุกหนทุกแห่ง คุณต้องเสี่ยงกับอะไรบ้างเมื่อคุณออนไลน์ ? และคุณจะหาทางปกป้องตัวเองได้อย่างไร ? วันนี้เรามีคำตอบให้กับคุณ

โจรกรรม “ตัวตน” ของคุณ

ฟัง ดูเหมือนเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย แต่มันเกิดขึ้นแล้ว ทุกวันนี้ตัวตนของคุณไม่ได้พิสูจน์ด้วยหน้าตา ลักษณะเฉพาะทางร่างกาย หรือลายเซ็นของคุณเท่านั้น การทำธุรกิจหลายๆ อย่าง คุณไม่จำเป็นต้องปรากฏตัวเลยด้วยซ้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจที่กระทำผ่านอินเทอร์เน็ต และนั่นเป็นช่องโหว่ที่ทำให้ผู้คนสามารถปลอมเป็นตัวคุณได้ หากรู้รายละเอียดเกี่ยวกับตัวคุณมากพอ ตัวอย่างที่เกิดขึ้นมาแล้ว คือกรณีของนายอับราฮัม อับดุลลาห์ ซึ่งถูกตำรวจจับกุมในข้อหาโจรกรรม “ตัวตน” (identity) ของดารา และผู้มีชื่อเสียง เพื่อนำไปแอบอ้างหาเงินผ่านทางระบบออนไลน์และวิธีการอื่นๆ ขณะถูกจับกุมเจ้าหน้าที่ตำรวจพบนิตยสาร Forbes ฉบับแสดงรายชื่อผู้ที่ร่ำรวยที่สุด 400 อันดับแรกของอเมริกา นอกจากนี้อับดุลลาห์ยังมี หมายเลขบัตรประกันสังคม หมายเลขบัตรเครดิต ข้อมูลบัญชีในธนาคาร หรือแม้แต่ชื่อก่อนแต่งงานของมารดาเหล่าคนดังทั้งหลาย เช่น สตีเวน สปีลเบิร์ก โอปราห์ วินฟรีย์ และมาร์ธา สจ๊วต ว่ากันว่าเขาสามารถทำเงินได้นับล้านเหรียญสหรัฐจากข้อมูลที่เขามีในมือ หนึ่งในกรณีที่เป็นข่าวคือการปลอมอีเมล์อ้างตัวป็น โธมัส ซีเบล ผู้ก่อตั้งบริษัทซีเบล ซิสเต็มส์ โดยส่งไปยังเมอร์ริล ลินช์ เพื่อขอให้โอนเงิน 10 ล้านเหรียญเข้าบัญชี

คดีของอับดุลลาห์กลายเป็น เรื่องที่คนทั้งสหรัฐให้ความสนใจ เอฟบีไอประมาณตัวเลขไว้ว่าทุกๆ ปีชาวอเมริกันถูกโจรกรรมตัวตนมากกว่า 500,000 ราย ปัจจุบัน ตัวเลขที่สูงลิ่งนี้ทำให้บริษัทประกันบางแห่งเริ่มเสนอขายกรมธรรม์คุ้มครอง ตัวตนกันแล้ว หลายคนอาจกลัวว่าผู้ร้ายอาจนำตัวตนของคุณไปใช้ก่ออาชญากรรมบนอินเทอร์เน็ต แต่ที่น่ากลัวที่สุดในเรื่องนี้ เห็นจะเป็นกรณีที่ผู้ร้ายใช้ตัวตนของผู้อื่นเมื่อถูกจับกุม หากเจ้าหน้าที่รักษากฎหมายไหวตัวไม่ทัน ตัวตนของเหยื่อจะมีคำว่า “อาชญากร” ติดตัวไปตลอด กว่าจะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ก็ยากที่จะแก้ไขเสียแล้ว

การ โจรกรรมตัวตนนี้มักเริ่มจากวิธีที่ไม่ต้องอาศัยระบบออนไลน์ เช่น การเฝ้าดูพฤติกรรมของเหยื่อ การค้นขยะหาเศษเอกสารที่เหยื่ออาจจะทิ้ง เมื่อได้ตัวตนของเหยื่อแล้ว ขั้นต่อไปจึงเป็นการอาศัยระบบออนไลน์เพื่อทำธุรกรรมต่างๆ ครั้งหนึ่ง ชาร์ล กลูอิค ทำกระเป๋าเงินหล่นหาย ผู้ร้ายที่พบกระเป๋าเงินดังกล่าว นำใบขับขี่ของเขาไปทำบัตรเครดิต 15 ใบในชื่อของกลูอิค และใช้บัตรเครดิตไปรูดจ่ายเงินไปกว่า 30,000 เหรียญสหรัฐ “คุณจะปลอมตัวเป็นใครก็ได้หากคุณให้ใช้คอมพิวเตอร์เป็น” เขากล่าว

คุณอาจเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวเสียเองโดยไม่ได้ตั้งใจ

การ เยี่ยมชมเว็บไซต์อาจจะดูเหมือนเป็นการเข้าชมโดยทางเว็บไซต์ไม่มีทางรู้ว่า คุณเป็นใคร ที่จริงแล้วมันไม่เป็นอย่างนั้น มีเว็บไซต์หลายแห่งที่ใช้คุกกี้ เพื่อเก็บรวบรวมพฤติกรรมของคุณ คุกกี้เป็นข้อมูลเล็กๆ ที่ทางเว็บไซต์ส่งมาฝังไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของคุณ ทำให้เว็บไซต์สามารถติดตามพฤติกรรมของคุณได้ว่าคุณคลิ้กดูข้อมูลอะไรบ้าง สนใจเรื่องไหนเป็นพิเศษ มันดูไม่ค่อยเป็นอันตรายมากนักจนกระทั่งบริษัท Doubleclick ประกาศว่าสามารถติดตามหาตัวตนของชาวอเมริกันกว่า 88 ล้านคนได้ด้วยการตรวจสอบคุกกี้ วิธีการดังกล่าวสามารถได้ข้อมูลทั้งชื่อ ที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์ แม้บริษัทจะยกเลิกโครงการนี้ไปแล้ว แต่นั่นก็แสดงให้เห็นว่าการสืบหาตัวผู้ใช้จากคุกกี้มีความเป็นไปได้

แม้ แต่เว็บเบราว์เซอร์ที่คุณใช้ ก็อาจจะเป็นตัวกระจายข้อมูลส่วนตัวของคุณเสียเอง เว็บเบราว์เซอร์หลายๆ ตัวมีช่องให้คุณกรอกชื่อ ที่อยู่ อีเมลแอดเดรส และข้อมูลอื่นๆ เพื่อความสะดวกในการใช้งานอินเทอร์เน็ต ข้อมูลเหล่านี้เว็บไซต์สามารถดึงมาจากเว็บเบราว์เซอร์ได้เมื่อคุณเข้าเยี่ยม ชม

เมื่อเว็บไซต์ขายข้อมูลลูกค้าให้กับผู้อื่น

เว็บไซต์หลายๆ แห่ง โดยเฉพาะ ไซต์ที่ขายสินค้าออนไลน์ ต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับตัวคุณก่อนจะขายสินค้า หรือบริการ หากคุณจะซื้อหนังสือจากเว็บไซต์ คุณจำเป็นต้องกรอกข้อมูลส่วนตัวและหมายเลขบัตรเครดิตให้กับเว็บไซต์อย่าง น้อยในครั้งแรกที่คุณสั่งซื้อ ข้อมูลเหล่านี้จะเก็บในฐานข้อมูล ซึ่งสามารถนำมาประมวลผลได้ว่าใครชอบซื้อหนังสือประเภทไหนบ้าง เพื่อที่ทางเว็บไซต์จะได้แนะนำหนังสือประเภทเดียวกันให้กับคุณเมื่อเข้ามา เยี่ยมชมครั้งต่อไป ลองคิดดูเล่นๆ ว่า หากเว็บไซต์หนังสือเกิดประสบปัญหาทางการเงิน ก็อาจจะเป็นไปได้ว่าทางเว็บไซต์จะนำข้อมูลของลูกค้าออกมาขาย คุณอาจจะแปลกใจว่าข้อมูลเหล่านี้มูลค่าสูงมากกว่าที่คุณคิดไว้เยอะ บางบริษัทยอมจ่ายถึงห้าพันเหรียญสหรัฐเพียงแค่อีเมลแอดเดรสของพนักงาน ทั้งหมดในบริษัทเล็กๆ แห่งเดียว เว็บไซต์ขายหนังสือออนไลน์ยักษ์ใหญ่อย่าง อเมซอน.คอม แต่เดิมยอมให้ลูกค้าเลือกปกปิดข้อมูลส่วนตัวของตัวเองได้ แต่เวลานี้ อเมซอน.คอม เปลี่ยนนโยบายใหม่โดยเขียนไว้ชัดเจนว่าอาจมีการนำข้อมูลของลูกค้าไปขาย หรือแลกเปลี่ยนกับไซต์อื่นๆ ในอนาคต

เมื่อสองปีก่อน Egghead.com ออกมายอมรับว่าแคร็กเกอร์สามารถเจาะเข้าถึงฐานข้อมูลของลูกค้าและอาจได้ หมายเลขบัตรเครดิตของลูกค้านับล้านไปด้วย (ในภายหลังพบว่าบัตรเครดิตของลูกค้าไม่ได้ถูกขโมยไป) การโจรกรรมหมายเลขบัตรเครดิตครั้งใหญ่ที่สุดเกิดกับ บริษัท ซีดี ยูนิเวอร์ส ซึ่งทำธุรกิจเทป ซีดี บนอินเทอร์เน็ต ครั้งนั้นแคร็กเกอร์ได้หมายเลขบัตรเครดิตไปกว่า 300,000 หมายเลข บริษัท Biblofind ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ อเมซอน.คอม ก็เคยถูกโจรกรรมหมายเลขบัตรเครดิตของลูกค้ากว่า 98,000 ราย อย่างไรก็ตาม เรื่องการโจรกรรมบัตรเครดิตนี้ไม่ค่อยเป็นปัญหาสำหรับผู้ถือบัตรมากนัก เพราะบริษัทบัตรเครดิตและร้านค้าจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่ของ ผู้ถือบัตร

เว็บไซต์ปลอม

เมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว เอฟบีไอสามารถติดตามจับขบวนการแคร็กเกอร์ชาวรัสเซียที่สร้างเว็บไซต์ปลอม เพื่อหลอกลวงผู้ใช้ให้กรอกหมายเลขบัตรเครดิต เจ้าหน้าที่ของรัฐกล่าวว่า แคร็กเกอร์กลุ่มนี้สร้างเว็บไซต์ปลอมของ PayPal.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ในการโอนเงินที่นิยมใช้กันมากที่สุด PayPal เคยโดนปลอมแปลงเว็บไซต์นี้หลายหนแล้ว โดยที่กลุ่มแคร็กเกอร์จะปลอมอีเมลส่งไปยังลูกค้าของ PayPal เพื่อให้เข้ามายังเว็บไซต์ PayPai.com หากลูกค้าไม่ทันสังเกตก็จะคิดว่าเป็นเว็บไซต์ของ PayPal.com (บนจอคอมพิวเตอร์หลายๆ เครื่องแสดงตัวอักษร l และ i คล้ายกันมาก)

อีก กรณีหนึ่งเกิดกับเว็บไซต์ของ Bank of America (www.bankofamerica.com) ซึ่งมีผู้สร้างเว็บไซต์ปลอมในชื่อ wwwbankofamerica.com เพื่อหวังโจรกรรมข้อมูลทางการเงินของเหยื่อ

หน่วยงานของรัฐก็เป็นตัวปัญหา

ใน รัฐโอไฮโอ คุณสามารถหาที่อยู่และราคาบ้านของใครก็ได้ที่อาศัยอยู่ในรัฐ โดยสอบถามผ่านฐานข้อมูลของแต่ละเขต บางแห่งสามารถบอกได้แม้กระทั่งแบบแปลนของบ้าน รัฐอื่นๆ อีกหลายรัฐกำลังทำตาม

ส่วนรัฐวิสคอนซินมีบริการข้อมูลอาชญากรออนไลน์ ซึ่งเก็บบันทึกการจับกุมและคดีที่ดำเนินถึงชั้นศาล ศาลกลางของรัฐให้ข้อมูลเกี่ยวกับคดีจำนวนมากผ่านทางบริการออนไลน์ และบางคดีจะมีการบันทึก หมายเลขบัตรประกันสังคม ฐานะทางการเงิน แม้แต่ชื่อและอายุของบุตรไว้ด้วย นักวิเคราะห์หลายรายต่างกล่าวกันว่ารัฐบาลสหรัฐเปิดเผยข้อมูลมากเกินไป และง่ายเกินไป ปัจจุบัน รัฐแคลิฟอร์เนียเริ่มปกปิดข้อมูลดังกล่าวแล้ว

คุณกำลังถูกจับตามอง ?

ตามกฎหมาย บริษัทมีสิทธิในการตรวจสอบพฤติกรรมการใช้ เว็บ อีเมล และการรับส่งข้อความผ่านอินเทอร์เน็ตของพนักงานได้ และมีบริษัทหลายๆ แห่งทำเช่นนั้นไม่ว่าจะบอกพนักงานก่อนหรือไม่ก็ตาม ดังนั้นขณะที่คุณทำงานอยู่ในบริษัทก็ลืมเรื่องความเป็นส่วนตัวไปได้เลย บริษัทหลายๆ แห่ง รวมทั้ง นิวยอร์ค ไทม์ เคยไล่พนักงานออกเพราะพบว่าส่งอีเมลที่ไม่เหมาะสมมาแล้ว

บริษัทสเปคโต รซอฟต์ผลิตซอฟต์แวร์สปายชั้นนำ พบว่าบริษัทมียอดขายเพิ่มขึ้นห้าเท่าทันทีที่เปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายจาก ผู้ปกครองและเจ้าของกิจการ มาเป็นกลุ่มสามีภรรยาและบรรดาคู่รักทั้งหลาย ลูกค้าของบริษัทรายหนึ่งซื้อซอฟต์แวร์ดังกล่าวไปติดตั้ง ภายในวันเดียวเธอก็ทราบถึงพฤติกรรมที่แท้จริงของแฟนหนุ่ม และยังได้รายชื่อของคู่ควงทั้ง 17 คนของแฟนหนุ่มอีกด้วย ซอฟต์แวร์ดังกล่าวเก็บข้อมูลจากเครื่องคอมพิวเตอร์ของคุณ ไม่ว่าคุณจะเข้าชมเว็บไซต์ เข้าห้องสนทนาในอินเทอร์เน็ต หรือส่งอีเมล โปรแกรมจะเก็บบันทึกไว้อย่างลับๆ เพื่อที่ผู้ที่ต้องการตรวจดูพฤติกรรมของคุณเข้ามาดูได้ในภายหลัง บริษัทขายซอฟต์แวร์นี้ได้มากกว่า 35,000 ก๊อปปี้ และกลายเป็นผู้นำในตลาดทันที

ซอฟต์แวร์สปายนี้ดูจะเป็นสิ่งที่น่า รังเกียจสำหรับคู่รักหรือเปล่า ? ดั๊ก ฟาวเลอร์ ประธานบริษัทสเปคโตรซอฟต์กล่าวว่า “หากคุณกำลังมีความสัมพันธ์ที่มั่นคงกับใครคนหนึ่ง แล้วถูกจับได้ด้วยหลักฐานออนไลน์พวกนี้ เท่าที่ผมคิดดู ผมว่าคุณสมควรโดนแล้วล่ะ”

เมื่อแคร็กเกอร์ต้องการข้อมูลส่วนตัวของคุณ

หาก คอมพิวเตอร์ของคุณไม่ได้รับการป้องกันดีพอ แคร็กเกอร์อาจเจาะเข้ามาวางซอฟต์แวร์เพื่อตรวจสอบพฤติกรรมของคุณ หรือค้นข้อมูลส่วนตัวของคุณที่เก็บในเครื่องคอมพิวเตอร์ได้ แคร็กเกอร์ไม่จำเป็นต้องเจาะเครื่องคอมพิวเตอร์ของคุณโดยตรง ไวรัส หนอนอินเทอร์เน็ต โทรจัน เป็นซอฟต์แวร์พิเศษที่แคร็กเกอร์หลายๆ รายใช้ในการล้วงความลับของคุณ หากจำกันได้ ไวรัส “I Love You” เคยระบาดอย่างรุนแรงในอินเทอร์เน็ต ไวรัสดังกล่าวจะพยายามขโมยรหัสผ่านของคุณแล้วส่งกลับไปยังผู้เขียนไวรัส ไวรัสตัวอื่นๆ อาศัยอีเมลแอดเดรสที่คุณเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ในการกระจาย โดยการสำเนาตัวเองติดไปกับอีเมลส่งไปทุกๆ แอดเดรสที่คุณเก็บไว้ โทรจันบางตัวอย่างเช่น Black Orifice เปิดช่องให้แคร็กเกอร์สามารถควบคุมเครื่องคอมพิวเตอร์ของคุณได้ทุกอย่างราว กับว่าแคร็กเกอร์นั่งอยู่หน้าจอเครื่องของคุณเลยทีเดียว ขอเพียงแค่คุณเชื่อมคอมพิวเตอร์ของคุณกับอินเทอร์เน็ตเท่านั้น

คุณอาจ ต้องเสียความเป็นส่วนตัวจากทางอื่นๆ อีกมากมายในสังคมออนไลน์ อันที่จริงแม้ว่าคุณไม่ได้ออนไลน์ ก็ยังมีโอกาสที่ตัวตนของคุณจะไปปรากฏในอินเทอร์เน็ตได้ เพียงแค่คุณทำกระเป๋าเงินหล่นหายอย่างที่เห็นเป็นตัวอย่างมาแล้วข้างต้น เรื่องแบบนี้คงไม่มีใครปกป้องตัวคุณได้ดีกว่าตัวคุณเอง สำหรับผู้ที่ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นประจำ เรามีข้อแนะนำเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจช่วยคุณได้

  1. อย่าเก็บบันทึกข้อมูลส่วนตัวไว้ในเครื่อง คอมพิวเตอร์ที่เชื่อมกับอินเทอร์เน็ตได้โดยตรง มีผู้ใช้จำนวนไม่น้อยที่มักบันทึกข้อมูลส่วนตัว หมายเลขโทรศัพท์ ตารางนัดหมาย รหัสผ่าน หรือแม้แต่ รหัสบัตรเอทีเอ็ม ไว้ในคอมพิวเตอร์ หากเครื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าวเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต คุณก็มีโอกาสปล่อยให้ข้อมูลเหล่านี้รั่วไหลไปได้ เพื่อเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม คุณควรเก็บข้อมูลเหล่านี้ไว้กับตัว เช่น ใช้ออร์แกไนเซอร์ ปาล์มพีซี หรือ คอมพิวเตอร์มือถือ ซึ่งพกพาติดตัวง่าย และมีความสะดวกในการใช้งานไม่แพ้เครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ
  2. ติดตั้ง โปรแกรมไฟร์วอลและโปรแกรมตรวจจับไวรัสในเครื่องคอมพิวเตอร์ของคุณ โปรแกรมไฟร์วอลทำหน้าที่กรองการติดต่อสื่อสารทั้งหมดที่เข้ามายังเครื่อง คอมพิวเตอร์ของคุณ จึงช่วยป้องกันคุณจากการบุกรุกของแคร็กเกอร์ได้ แม้จะไม่ 100% แต่ก็ถือว่าดีมากพอ และคุ้มที่จะใช้งาน โปรแกรมไฟร์วอลยอดนิยมสำหรับพีซีมีอยู่หลายตัว เช่น BlackICE Defender หรือ ZoneAlarm
  3. ระวังตัวทุกครั้งที่ต้องกรอกข้อมูลในอินเทอร์เน็ต ข้อมูลสำคัญๆ เช่น ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ ไม่ควรเปิดเผยให้กับคนแปลกหน้า เช่นเดียวกับข้อมูลในโฮมเพจส่วนตัวของคุณก็ไม่ควรมีมากจนเกินไป และพึงระลึกอยู่เสมอว่าข้อความที่คุณโพสต์ในเว็บบอร์ดต่างๆ มักมีการเก็บบันทึกไว้เสมอ แม้ข้อความนั้นจะไม่ปรากฏในเว็บบอร์ดแล้วก็ตาม
  4. อย่า ดาวน์โหลดโปรแกรมหรือรับไฟล์จากผู้อื่น นอกเสียจากว่าคุณไว้ใจเขา อีเมลที่คุณได้รับ อาจมีไวรัส โทรจัน หรือซอฟต์แวร์สปายติดมาด้วย ดังนั้นคุณควรตรวจดูเสมอว่าอีเมลส่งมาจากใคร มีลักษณะผิดสังเกตหรือไม่ เช่น ใช้ภาษาอังกฤษทั้งที่อีเมลฉบับก่อนๆ ใช้ภาษาไทย มีข้อความหรือสำนวนผิดแปลกไป เป็นต้น
  5. ควรมีอีเมลอย่างน้อยสองแอดเด รส ตัวหนึ่งเก็บไว้ใช้ติดต่อเฉพาะคนที่รู้จัก เพื่อน หรือผู้ร่วมงาน อีกตัวหนึ่งควรสมัครจากบริการฟรีอีเมล เช่น Hotmail.com หรือ Yahoo.com เมื่อจำเป็นต้องกรอกอีเมลแอดเดรสในเว็บไซต์เพื่อซื้อสินค้าหรือใช้บริการ อื่นๆ ให้กรอกอีเมลแอดเดรสของฟรีอีเมล วิธีนี้คุณสามารถยกเลิกและสมัครใหม่ได้หากเกิดปัญหาในภายหลังโดยไม่กระทบการ สื่อสารกับเพื่อนฝูงและผู้ร่วมงานของคุณ
  6. ควรกำหนดให้เว็บ เบราว์เซอร์ไม่รับคุกกี้ที่ส่งมาจากเว็บไซต์ วิธีนี้ทำให้คุณปลอดภัยจากการตรวจสอบพฤติกรรมการใช้งาน อย่างไรก็ตาม คุณควรอนุญาตให้เว็บเบราว์เซอร์ของคุณรับคุกกี้เมื่อจำเป็น เช่น เมื่อคุณสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ หรือใช้งานเว็บบอร์ด
  7. ลบข้อมูลที่คุณ กรอกให้กับเว็บเบราว์เซอร์ เช่น ชื่อ ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ อีเมลแอดเดรส ถ้าไม่จำเป็น คุณควรลบข้อมูลเหล่านี้ออกจากเว็บเบราว์เซอร์จะดีกว่า
  8. ดู ให้แน่ใจก่อนว่าเว็บไซต์นั้นสามารถสื่อสารผ่านการเข้ารหัสลับได้ หากต้องกรอกข้อมูลส่วนตัวให้กับเว็บไซต์ คุณสามารถตรวจสอบความสามารถนี้ได้จากสัญลักษณ์รูปกุญแจที่ปรากฏที่เว็บ เบราว์เซอร์ของคุณ หรือตรวจสอบจาก URL ของเว็บเพจที่คุณกำลังกรอกข้อมูลว่าขึ้นต้นด้วย “https” ซึ่งเป็นการสื่อสารผ่านเว็บที่มีการเข้ารหัสลับ (HTTPS = Secure HyperText Transfer Protocol)
  9. อ่านนโยบายการรักษาความลับของลูกค้า (Privacy Policy) ก่อนที่จะให้ข้อมูลส่วนตัวกับเว็บไซต์ วิธีนี้คุณสามารถตรวจสอบได้ว่าเว็บไซต์ที่คุณกำลังให้ข้อมูลส่วนตัวนั้น ปกป้องข้อมูลของคุณได้ดีเพียงไร จะนำข้อมูลไปขาย หรือแลกเปลี่ยนกับบริษัทอื่นหรือไม่
  10. ลบ Cache ทุกครั้งที่เลิกใช้งานเว็บเบราว์เซอร์ cache เป็นพื้นที่หน่วยความจำที่เก็บข้อมูลเว็บไซต์ที่คุณเข้าชมเพื่อให้ใช้งานได้ เร็วขึ้น คุณควรสั่งให้เว็บเบราว์เซอร์ลบ cache ทิ้งเสมอเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่นทราบพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของคุณ

10 ข้อนี้ คงไม่ยากเกินไปที่จะปฏิบัติตาม หากคุณคิดว่ามันเยอะเกินไปก็ขอให้จำหลักสั้นๆ ว่าข้อมูลส่วนตัวของคุณไม่ควรให้กับใครง่ายๆ ไม่ควรเก็บบันทึกในที่ๆ ไม่ปลอดภัย และอย่าลืมว่า แม้แต่คอมพิวเตอร์ของคุณเอง


บทความนี้เขียนลงในนิตยสารฉบับหนึ่งเมื่อเดือนมกราคม 2002