KKU Commencement 2010

วันนี้เป็นวันพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ที่ มข. เลยพยายามหาความหมายของคำว่า “บัณฑิต” แล้วก็พบคำอธิบายที่น่าสนใจจาก มงคลชีวิต 38 ประการของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อยากฝากไว้ให้กับบัณฑิตใหม่ เพื่อจะได้ตระหนักถึงการเป็นบัณฑิตที่แท้จริง


บัณฑิต คือคนที่มีใจผ่องใสอยู่เป็นปกติวิสัย ทำให้มีความเห็นถูกยึดถือค่านิยมที่ถูกต้อง สามารถดำเนินชีวิตอยู่ด้วยปัญญา

  • เป็นผู้รู้ดี คือ รู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว
  • เป็นผู้รู้ถูก คือ รู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด
  • เป็นผู้รู้ชอบ คือ รู้ว่าอะไรบุญ อะไรบาป

บัณฑิต อาจเป็นใครก็ได้ เช่น อาจเป็นผู้อ่านหนังสือไม่ออก อาจเป็นชาวไร่ชาวนา อาจเป็นผู้ทีมีการศึกษาสูง อาจเป็นญาติของเรา ฯลฯ แต่ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตามจะต้องเป็นผู้ที่มีจิตใจผ่องใสและดำเนินชีวิตอยู่ด้วยปัญญา คือเป็นคนดีนั่นเอง

คนทั่วไปมักเข้าใจว่า ผู้ที่เรียนหนังสือจนได้รับปริญญานั้นคือ บัณฑิต แท้จริงนั่นเป็นเพียงบัณฑิตทางโลกเท่านั้น ยังไม่ใช่บัณฑิตที่แท้จริงเพราะผู้ที่ได้รับปริญญาแล้ว ถ้าความประพฤติไม่ดี อาจไปทำผิดติดคุกติดตะรางได้ แต่บัณฑิตที่แท้จริงย่อมเป็นผู้ตั้งใจละชั่ว ประพฤติชอบประกอบแต่ความดี ความถูกต้อง ความสุจริตสามารถป้องกันตนให้พ้นจากคุกจากตะรางและแม้กระทั่งจากนรกได้ “บัณฑิตมิใช่ผู้มีเพียงปริญญา แต่คือผู้อุดมศีล สมาธิ ปัญญา”

ลักษณะของบัณฑิต

เนื่องจากบัณฑิตเป็นผู้มีจิตใจผ่องใส มีความเห็นถูก ดำเนินชีวิตอยู่ด้วยปัญญา ฉลาดในการสอดส่องหาเหตุผล จึงมีลักษณะพิเศษสูงกว่าคนทั้งหลาย ๓ ประการคือ

  1. ชอบคิดดีเป็นปกติวิสัย ได้แก่ คิดให้ทาน คิดให้อภัยอยู่เสมอไม่ผูกพยาบาท คิดเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง เช่น เห็นว่าบุญบาปมีจริง พ่อแม่มีพระคุณต่อเราจริง เป็นต้น
  2. ชอบพูดดีเป็นปกติวิสัย ได้แก่พูดคำจริง พูดคำสมานไมตรี พูดคำมีประโยชน์ พูดถูกต้องตามกาลเทศะและพูดด้วยจิตที่ประกอบด้วยเมตตา
  3. ชอบทำดีเป็นปกติวิสัย ได้แก่ เว้นการฆ่ากัน ไม่ลักขโมย ไม่ประพฤติผิดในกาม พอใจเฉพาะคู่ครองของตนเท่านั้น

องค์คุณของบัณฑิต

  1. กตัญญู รู้อุปการะคุณที่ท่านทำแล้วแก่ตน
  2. อัตตสุทธิ ทำตนให้บริสุทธิ์จากบาป
  3. บริสุทธิ์ ทำผู้อื่นให้บริสุทธิ์จากบาป
  4. สังคหะ สงเคราะห์แต่ชุมชนทั้งหลาย

บัณฑิต มักกระทำในสิ่งต่อไปนี้คือ

  1. บัณฑิตชอบชักนำในทางที่ถูก เช่น ชักนำให้เลิกสูบบุหรี่ เลิกดื่มสุรา เลิกเล่นการพนัน ชักนำให้สวดมนต์ก่อนนอนให้รักษาศีล ให้ทำมาหากินในทางสุจริต เป็นต้น
  2. บัณฑิตชอบทำแต่สิ่งที่เป็นธุระ ไม่เกะกะเกเรใครๆ เร่งรีบทำการงานในหน้าที่ของตนให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ไม่ปล่อยงานให้คั่งค้างและไม่ก้าวก่ายงานในหน้าที่ของคนอื่น เว้นแต่เมื่อได้รับการขอร้องหรือเพื่ออนุเคราะห์
  3. บัณฑิตชอบทำแต่สิ่งที่ถูกที่ควร เช่น ชอบพูดและทำตรงไปตรงมาชอบสนทนาธรรม รังเกียจการนินทาว่าร้าย ชอบบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ทั้งแต่ตนเองและต่อผู้อื่นเป็นต้น
  4. บัณฑิตเมื่อถูกว่ากล่าวตักเตือนโดยดีย่อมไม่โกรธ มีนิสัยถือเอาความถูก ความดีและความมีประโยชน์เป็นที่ตั้งไม่ถือตัวอวดดีดื้อรั้น แต่เห็นว่าผู้ที่ตักเตือนคนคือผู้ที่ชี้ขุมทรัพย์ให้ แล้วพยายามแก้ไขปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้นตามคำแนะนำนั้น โดยไม่นึกรังเกียจว่าผู้ที่ตักเตือนจะมีอายุ ยศศักดิ์ ฐานะสูงหรือต่ำกว่าหากมีผู้อื่นเข้าใจผิดพูดก้าวร้าวไม่สมควร ก็อดทนไว้ไม่โกรธตอบแล้วพยายามหาโอกาสชี้แจงให้เขาเข้าใจภายหลัง จึงทำความอบอุ่นและเย็นใจให้แก่ทุกคน
  5. บัณฑิตย่อมรับรู้ระเบียบวินัย รักที่จะปฏิบัติตนตามระเบียบวินัยของหมู่คณะอย่างเคร่งครัด เพราะตระหนักดีว่า วินัยเป็นเครื่องยกหมู่คณะให้เจริญขึ้นได้จริงทำให้หมู่คณะสงบเรียบร้อยไม่วุ่นวายจริง ทำให้เกิดความประหยัดจริง ฯลฯ จึงรังเกียจความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ความไม่สะอาดรกรุงรัง

บัณฑิตควรตระหนักว่า มีหลายคนทำงานหนักเพื่อให้พวกเขาสำเร็จการศึกษา มีคนจัดพิธีวันนี้ให้สำเร็จลุล่วงเพื่อให้สมกับความภาคภูมิและเป็นเกียรติแก่เขา ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เพราะเขาเรียนจบการศึกษาระดับปริญญา — แต่เพราะหวังว่าเขาที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘บัณฑิต’ จะเป็นคนดี เพราะคนดีอยู่ที่ไหนก็เป็นประโยชน์ ไม่ว่าจะต่อครอบครัว สังคม ประเทศชาติ หรือมนุษยชาติ

ขอแสดงความยินดีกับบัณฑิตทุกคนเน้อะ