Jazz Up Your Life

ที่มาของดนตรีแจ๊ส

เชื่อกันว่าดนตรีแจ๊สมีต้นกำเนิดราวทศวรรษ 1920 โดยวงดนดรีวงแรกที่นำสำเนียงแจ๊สมาสู่ผู้ฟังหมู่มากคือ ดิ ออริจินัล ดิกซีแลนด์ แจ๊ส แบนด์ (The Original Dixieland Jazz Band: ODJB) ด้วยจังหวะเต้นรำที่แปลกใหม่ ทำให้โอดีเจบีเป็นที่กล่าวขวัญกันอย่างมาก พร้อมกับให้กำเนิดคำว่า “แจ๊ส” ตามชื่อวงดนตรี โอดีเจบีสามารถขายแผ่นได้ถึงล้านแผ่น .. อย่างไรก็ตามโอดีเจบีไม่ได้เป็นผู้ให้กำเนิดท่วงทำนองดังกล่าว หากแต่นำสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมาจากเพลงพื้นบ้านในแถบนิวออร์ลีนส์มาประยุกต์ อีกที มีการวิเคราะห์รากลึกของแจ๊สในหลายทาง หนึ่งในนั้นคือเกิดจากดนตรีของกลุ่มทาสที่เดินทางมาจากแอฟริกาเพื่อเป็น แรงงานเกษตรกรรม กลุ่มทาสเหล่านี้มีพื้นฐานในเรื่องจังหวะมาจากเพลงพื้นบ้านหรือดนตรีในพิธี ทางศาสนาอยู่แล้ว ประกอบกับได้ซึมซับดนตรีของคนผิวขาว จากยุโรป จึงเกิดการผสมผสานกันกลายเป็นเพลงบลูส์ (Blues) วิเคราะห์กันว่าโน๊ตที่แปลกแปร่งของบลูส์ เกิดจากการที่คนผิวดำเหล่านี้เรียนรู้ดนตรีจากการฟังเป็นพื้นฐาน จึงเล่นดนตรีแบบถูกบ้างผิดบ้าง เพราะจำมาไม่ครบถ้วน มีการขยายความด้วยความพึงพอใจของตัวเองเป็นหลัก ซึ่งกลายเป็นที่มาของคีตปฏิภาณ (Improvisation) ในภายหลัง .. ดนตรีแร็กไทม์ (Ragtime) ก็เชื่อว่ามีต้นกำเนิดคล้ายๆ กันคือ เกิดจากดนตรียุโรปผสมกับจังหวะขัดของแอฟริกัน .. บลูส์และแร็กไทม์นี่เองที่เป็นรากของดนตรีแจ๊สในเวลาต่อมา

แร็กไทม์มี ช่วงเวลาที่รุ่งเรืองอยู่ราวๆ ทศวรรษ 1890 ถึง 1910 มีเสน่ห์และเอกลักษณ์ที่จังหวะขัด (Syncopation) นักดนตรีแร็กไทม์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดคนหนึ่งก็คือ สก็อตต์ จอปลิน (Scott Joplin) ผู้ประพันธ์เพลงที่เราคุ้นหูหลายๆ เพลง เช่น The Entertainer, Maple Leaf Rag, Elite Syncopations, Peacherine Rag เป็นต้น หากไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน แนะนำให้หาฟังดูแล้วจะร้องอ๋อ .. หรือถ้าชอบดูหนังลองหา The Sting มาดู มีเพลงของจอปลินประกอบเกือบทั้งเรื่อง หรือไม่ก็ The Legend of 1900 (UBC เคยเอามาฉาย) แม้เรื่องหลังนี้จะกล่าวถึงดนตรีแจ๊ส แต่มีหลายเพลงที่มีกลิ่นรสของแร็กไทม์ที่เข้มข้นทีเดียวโดยเฉพาะตอนดวล เปียโน

เพลงบลูส์เริ่มได้รับความนิยมในช่วงเวลาเดียวกันกับแร็กไทม์ ปลายๆ ทศวรรษ 1910 เพลงบลูส์และแร็กไทม์ถูกผสมผสานจนกลมกลืนโดยมีหัวหอกคือ บัดดี โบลเดน (Charles Joseph ‘Buddy’ Bolden) เป็นผู้ริเริ่ม หากแต่เวลานั้นยังไม่มีการประดิษฐ์คำว่าแจ๊สขึ้นมา และเรียกดนตรีเหล่านี้รวมๆ กันว่า “ฮ็อต มิวสิค” (Hot Music) จนกระทั่งโอดีเจบีโด่งดัง คำว่า แจ๊ส จึงเป็นคำที่ใช้เรียกขานกันทั่ว .. แจ๊สในยุคแรกนี้เรียกกันว่าเป็น แจ๊สดั้งเดิม หรือ นิวออร์ลีนส์แจ๊ส

สวิง และ บิ๊กแบนด์

ช่วง เวลาที่สหรัฐเขาร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ทางการสั่งปิดสถานเริงรมณ์ในนิวออร์ลีนส์ ทำให้นักดนตรีส่วนใหญ่เดินทางมาหากินในชิคาโก นิวยอร์ก และ ลอสแองเจลลิส ทั้งสามเมืองจึงกลายเป็นแหล่งบ่มเพาะนักดนตรีแจ๊สในช่วงนั้น .. ชิคาโกดูจะเป็นเมืองที่มีความก้าวหน้าทางดนตรีแจ็สเหนือกว่าอีกสองเมือง เพราะมีนักดนตรีมาทำงานมาก ชิคาโกเป็นเมืองที่ทำให้ หลุยส์ อาร์มสตรอง (Louis Armstrong) เป็นที่รู้จัก และกลายเป็นนักดนตรี/นักร้องแจ๊สชื่อก้องโลกในเวลาต่อมา ในด้านการพัฒนา ชิคาโกมีดนตรีแจ๊สที่สืบสายมาจากนิวออร์ลีนส์แต่มีลักษณะเฉพาะตัว เสียงจัดจ้าน มีการทดลองจัดวงในแบบของตัวเอง เริ่มเอาเครื่องดนตรีใหม่ๆ เช่น แซ็กโซโฟนมาใช้รวมกับ คอร์เน็ต ทรัมเป็ต มีการทดลองแนวดนตรีใหม่ๆ เช่น การเล่นเปียโนแบบสไตรด์ (Stride piano) ของเจมส์ จอห์นสัน (James P. Johnson) ซึ่งมีพื้นฐานจากแร็กไทม์ การทดลองลากโน้ตให้ยาวจนผู้ฟังคาดเดาได้ยากของอาร์มสตรอง และการปรับแพทเทิร์นของจังหวะกันใหม่เป็น Chicago Shuffle

ส่วน นิวยอร์กรับหน้าที่เป็นศูนย์กลางของแจ๊สในยุคปลายทศวรรษ 1920 แทนชิคาโก สุ้มเสียงของดนตรีแจ๊สในนิวยอร์กพัฒนาเพื่อเป็นดนตรีเต้นรำให้ความสนุกสนาน บันเทิง และเป็นบ่อเกิดของ สวิง (Swing) และ บิ๊กแบนด์ (Big Band) ในเวลาต่อมา

“สวิง” ในบริบทของแจ๊ส หมายถึงอิสระในการแสดงความคิดทางดนตรี ชื่อสวิงนี้มีที่มาจากจังหวะที่ฟังแล้วเหมือนไม่ลงตัว หรือเหมือนกับจังหวะมัน ‘แกว่ง’ นั่นเอง สวิงเป็นดนตรีที่ก่อให้เกิดการจัดวงแบบใหม่ที่เรียกว่า “บิ๊กแบนด์” ซึ่งมีการแบ่งโครงสร้างเครื่องดนตรีเป็นสามส่วนคือ เครื่องทองเหลือง เครื่องลมไม้ และเครื่องให้จังหวะ … ที่แจ้งเกิตตามมาในยุคนี้ก็คือนักร้องแจ๊ส เช่น เอลลา ฟิทช์เจอรัลด์ (Ella Fitzgerald) บิลลี ฮอลิเดย์ (Billy Holiday) และหลุยส์ อาร์มสตรอง .. จุดเด่นมากๆ ของนักร้องแจ๊สคือการ “สแกต” (Scat) หรือเปล่งเสียง ฮัมเพลง แทนเครื่องดนตรี ซึ่งนับเป็นการแสดงคีตปฏิภาณของนักร้อง

หากพูดถึง สวิงแล้วคงยากที่จะเลี่ยงการกล่าวถึงผู้ที่ได้รับฉายาว่า ราชาแห่งสวิง “เบนนี กู๊ดแมน” (Benny Goodman) ผู้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยได้รับพระราชทานพระราชวโรกาสให้ร่วมเล่นดนตรีกับพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว .. เบนนี กู๊ดแมน เป็นนักคลาริเน็ต ก่อตั้งวงของตัวเองออกเดินสายเปิดคอนเสิร์ต พร้อมกับพัฒนาแนวทางดนตรีใหม่ๆ ไปด้วย วงบิ๊กแบนด์ของกู๊ดแมน มีลักษณะต่างจากวงอื่นๆ ในยุคนั้นตรงที่ เปิดโอกาสให้นักดนตรีคนอื่นในวงได้เล่นโซโล แสดงความสามารถเต็มที่ กลายเป็นที่ชื่นชอบของผู้ฟัง นอกจากนี้วงของกู๊ดแมนยังมีนักดนตรีทั้งผิวขาวและผิวดำปะปนกัน จึงได้รับการชื่นชมจากผู้ฟังจำนวนมาก .. ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น นอกจากวงของกู๊ดแมนแล้ว ที่โด่งดังไม่แพ้กันก็ยังมีวงของ ดุ๊ก เอลลิงตัน (Duke Ellington) และวงของ เคาน์ เบซี (William Count Basie)

บ็อพ

เพลง สวิงมาถึงจุดอิ่มตัวเมื่อนักดนตรีเริ่มเบื่อหน่ายการจัดวงและการเรียบเรียง ที่ค่อนข้างตายตัว จึงเริ่มเกิดการหาแนวทางใหม่ๆ เล่นตามความพอใจหลังการซ้อมหรือเล่นดนตรี หรือเรียกว่า “แจม” (Jam session) นั่นเอง .. และจากการแจมนี่เองทำให้ ชาร์ลี “เบิร์ด” พาร์คเกอร์ (Charlie “Bird” Parker) นักแซ็กโซโฟน และ ดิซซี่ กิลเลสปี (Dizzy Gillespie) นักทรัมเป็ต เสนอแจ๊สในแนวทางใหม่ขึ้นมา เมื่อทั้งสองร่วมตั้งวงห้าชิ้นและออกอัลบั้มตามแนวทางดังกล่าว คำว่า “บีบ็อพ” (Bebop) “รีบ็อพ” (Rebop) หรือ “บ็อพ” (Bop) ก็กลายเป็นคำติดปากของผู้ฟัง .. คำว่าบีบ็อพเชื่อกันว่ามาจากสแกตของโน้ตสองตัว บ็อพมีสุ้มเสียง จังหวะ การสอดประสานที่ต่างไปจากสวิงค่อนข้างมาก เช่นจังหวะไม่ได้บังคับเป็น 4/4 เหมือนสวิง ใช้คอร์ดแทน (Alternate chords) เยอะ ในขณะที่โซโลและการแสดงคีตปฏิภาณยังคงวางบนคอร์ดเดิม

เริ่มแรกบ็อพไม่ ได้เกิดปรากฏการณ์บูมเหมือนกับสวิง ด้วยท่วงทำนองของบ็อพจะเน้นเป็นดนตรีตามคลับแจ๊สมากกว่าดนตรีเต้นรำ .. นักดนตรีแนวสวิงหลายคนออกจะดูถูกบ็อพ ถึงขนาดบอกว่า ‘บ็อพทำให้แจ๊สถอยหลังไปยี่สิบปี’ แม้แต่ผู้อาวุโสอย่างอาร์มสตรองยังให้ความเห็นในทางลบ อย่างไรก็ตาม จุดเด่นของบ็อพคือการแสดงออกถึงความเป็นตัวของตัวเองสูง เปรียบเสมือนวัยรุ่นที่แสดงออกทางความคิดอย่างเต็มที่ ไม่นานนัก บ็อพก็เป็นที่นิยม ชาร์ลี พาร์กเกอร์ ดิซซี กิลเลสพี และ ธีโลเนียส มองค์ (Thelonious Monk) ก็กลายเป็นดาวเด่นในแวดวงแจ๊ส ในฐานะที่เปิดแนวทางการพัฒนาใหม่ๆ ให้กับแจ๊ส

แขนงของบ็อพ

ช่วง ทศวรรษ 1950 ความนิยมในสวิงเริ่มเสื่อมคลายลง บิ๊กแบนด์หลายวงต้องสลายไป วงดังๆ ก็จำต้องรับงานเฉพาะกิจ แทนที่จะเป็นงานประจำเหมือนแต่ก่อน ..ส่วนเพลงแนวบ็อพ ทำให้เกิดดนตรีอีกหลายแนวตามมา โดยแยกออกเป็นสองส่วนคือ แนวที่แยกไปจากแจ๊สเลย เช่น บูกี้-วูกี้ ริทึมแอนด์บลูส์ และ ร๊อคแอนด์โรล ซึ่งภายหลังก็ผันมาเป็นดิสโก้ และดนตรีเต้นรำอื่นๆ

ส่วนในแขนงของแจ๊ส ในยุคแรก บ๊อพทำให้กำเนิดกระแสสองกระแส ..กระแสแรกคือ คูลแจ๊ส (Cool Jazz) ซึ่งเป็นการผสมแจ๊สเข้ากับเพลงคลาสสิค .. อีกกระแสคือ ฮาร์ดบ็อพ (Hard Bop) ซึ่งผสมเอาบ็อพ ริทึมแอนด์บลูส์ และเพลงในโบสถ์ที่เรียกว่า กอสเพล (Gospel) เข้าด้วยกัน

คูลแจ๊สมีต้นกำเนิดจากงานของไมล์ส เดวิส (Miles Davis) ซึ่งจัดวงเก้าชิ้น อัดอัลบั้ม The Birth of Cool . แม้ขายไม่ดี แต่นักดนตรีแจ๊สให้ความสนใจในเนื้อหาดนตรีมากจนงานชิ้นนี้เรียกติดปากว่า “คูล” ซึ่งกลายเป็นที่มาของ คูลแจ๊ส .. อีกนัยหนึ่งแนวคูลแจ๊ส ไม่ได้เร่าร้อน เร็ว สนุกสนานเหมือนดนตรีแจ๊สที่ผ่านมา หากมีท่วงทำนองช้า บรรยากาศทึมๆ หม่นเทา .. อิทธิพลด้านคลาสสิคของคูลแจ๊สส่วนใหญ่จะมาจากงานของ สตราวินสกี (Igor Stravinsky) และ เดอบุสซี (Claude Debussy) และเพราะอิทธิพลของคลาสสิคที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยมสูง ทำให้บางคนวิจารณ์ว่า คูลบ็อพทำให้แจ็สถอยหลังเข้าคลอง (อีกแล้ว)

ขณะเดียวกัน ทางฝั่งตะวันตกก็มีเพลงแจ๊สที่เรียกกันว่า เวสต์โคสต์ (West Coast Sound) ซึ่งคล้ายคลึงกับคูลแจ๊ส แต่อนุรักษ์นิยมสูงกว่า วงดนตรีเวสต์โคสต์มักไม่มีเปียโนมารวมด้วย ผู้นำของกลุ่มนี้ได้แก่ เช็ต เบเกอร์ (Chet Baker) เจอร์รี มัลลิแกน (Jerry Mulligan) สแตน เก็ตซ์ (Stan Getz) ก็เคยทำงานในแนวนี้ด้วยเช่นกัน

ฮาร์ดบ็อพ หรือ โซลแจ๊ส (Soul Jazz) เป็นอีกสาขาของบ็อพที่แตกออกมา ดนตรีจะออกไปทางดนตรีของคนผิวดำ เช่น ฟังกี้ ริทึมแอนด์บลูส์ โดยมี ไมล์ส เดวิส คลิฟฟอร์ด บราวน์ (Clifford Brown) ซอนนี รอลลินส์ (Sonny Rollins) ฯลฯ เป็นผู้ทดลองงานในสายนี้ .. ในส่วนของเดวิส หลังทำงานคูลแจ๊สไปแล้ว ก็หันมาทำงานฮาร์ดบ็อพ ทำนองเรียบง่าย ใช้บันไดเสียงไมเนอร์ สุ้มเสียงโซโลดูหม่นเทา โศกเศร้า ซึมเซา เหมือนสิ้นหวัง .. ไมล์ส เดวิส ธีโลเนียส มองค์ มิลต์ แจ็กสัน (Milt Jackson) และเคนนี คลาร์ก (Kenny Clark) เคยร่วมงานกันในแนวคูล นับเป็นงานระดับมาสเตอร์พีซของเดวิสเลยทีเดียว ว่ากันว่าเสียงทรัมเป็ตในชุด “เซสชัน” ที่อัดร่วมกันนี้ เป็นที่สุดของเดวิสแล้ว โดยเฉพาะเพลง Bag’s Groove แม้เบื้องหลังการทำงานอัลบั้มนี้จะมีข่าวว่าเดวิสและมองค์ขัดแย้งกันอย่าง รุนแรงก็ตามที

สิ้นสุดยุคบ็อพ

บ็อพและแขนงของบ็อพมาถึงทางตัน ราวๆ ทศวรรษที่ 1960 ทำให้มีการโยนหินถามทาง ทดลองดนตรีที่แปลกใหม่ สลับซับซ้อนขึ้น .. และแล้ว ไมล์ส เดวิส และ จอห์น โคลเทรน (John Coltrane) ก็มาลงตัวกับท่วงทำนองที่ใช้ฮาร์โมนีของโหมด (Mode) มากกว่า คอร์ด กลายมาเป็น โมดัสแจ๊ส (Modal Jazz) ในเวลาต่อมา โดยมีอัลบั้ม Kind of Blues ของเดวิส เป็นตัวแทนของการเริ่มต้น การใช้โหมดทำให้นักดนตรีสามารถโซโล หรือแสดงคีตปฏิภาณได้อิสระยิ่งขึ้น เพราะไม่มีข้อจำกัดเรื่องคอร์ดเหมือนที่ผ่านมา จึงเกิดสเกลแปลกใหม่มากมาย

หลัง อัลบั้ม Kind of Blue ในปี 1959 ไม่นานนัก ออร์เน็ต โคลแมน (Ornette Coleman) นักแซ็กโซโฟนก็เสนออีกแนวทางหนึ่งที่ให้อิสระยิ่งกว่าโมดัลแจ๊ส คือดนตรีสายฟรีแจ๊ส (Free Jazz) ซึ่งเน้นปฏิสัมพันธ์เป็นแกน อาศัยความรู้สึกและคีตปฏิภาณอย่างหนักหน่วง จนแทบไม่เหลืออะไรเป็นศูนย์กลายของเพลง หลายๆ เพลงไม่มีแม้แต่จังหวะทำนอง ไม่มีห้องดนตรี ถ้าฟังไม่รู้เรื่องจะรู้สึกเหมือนเด็กอนุบาลมาเล่น ดนตรีในแนวฟรีแจ๊สและที่ใกล้เคียงกันในเวลานั้นทั้งหมดเรียกรวมว่า “อวองต์ การ์ด” (Avante Garde) นอกจาก โคลแมนแล้ว ผู้ที่มีชื่อเสียงในฟรีแจ๊ส ก็มี อัลเบิร์ต ไอย์เลอร์ (Albert Ayler) ซึ่งเป็นผู้ชักนำให้ โคลเทรนหันมาสนใจฟรีแจ๊สในระยะหลังๆ

ฟิวชัน

หลังกำเนิดฟรี แจ๊ส ในช่วงต้นทศวรรษ 1970 ได้เกิดดนตรีแจ๊สอีกแนวที่เรียกว่า ฟิวชัน (Fusion) ซึ่งบ่งชี้ถึงการนำดนตรีสองแนวหรือมากกว่ามาหลอมรวมกัน แต่โดยบริบทในช่วงนั้นจะหมายถึงการรวมดนตรีแจ๊สเข้ากับร็อคเป็นหลัก เพราะช่วงเวลานั้นร็อคแอนด์โรลมีอิทธิพลในกลุ่มวัยรุ่นอย่างมาก .. ไมล์ส เดวิส นักปฏิวัติดนตรีแจ๊ส ก็ได้หยิบเอาโครงสร้างของร็อคมารวมกับแจ๊ส ทดลองใช้เครื่องดนตรีไฟฟ้า เครื่องดนตรีประเภทสังเคราะห์เสียง โดยเริ่มจากอัลบั้ม In A Silent Way ก่อนจะมาเป็นอัลบั้ม Bitches Brew ซึ่งเป็นต้นแบบของแนวฟิวชันในเวลาต่อมา .. Bitches Brew เป็นอัลบั้มที่จุดประกายให้นักดนตรีอีกหลายกลุ่ม เช่น โจ ซาวินูล (Joe Zawinul) จอห์น แมคลาฟลิน (John McLaughlin) เวเธอร์ รีพอร์ต (Weather Report) ฯลฯ

ยุคหลังทศวรรษ 1970 ฟิวชันไม่ได้ครอบคลุมเพียงแจ๊ส-ร็อค หากรวมถึงดนตรียุคหลัง เช่น แจ๊ส-รึทึมแอนด์บลูส์ แจ๊ส-ฟังกี้ แจ๊ส-ป๊อป เป็นต้น ฟิวชันยุคหลังนี้มีอิทธิพลกับแนวดนตรีนิวเอจ (New Age) และ เวิลด์ มิวสิค (World Music) ในเวลาต่อมาโดยมีสังกัด ECM และ วินด์แฮม ฮิล (Windham Hill) เป็นหัวหอก นักดนตรีฟิวชันที่โด่งดังมีหลายคน เช่น คีธ จาร์เร็ต (Keith Jarrett) แพท เมธินี (Pat Metheny) บิลล์ ฟริเซล (Bill Frisell) โตชิโกะ อะกิโยชิ (Toshiko Akiyoshi) ซาดาโอะ วาตานะเบ (Sadao Watanabe) เป็นต้น

ฟิวชันยุคหลัง ทิ้งน้ำหนักไปทางป๊อปมากขึ้น ทำให้ฟังไพเราะติดหูง่าย มีทั้งจังหวะสนุกสนานและซึมเศร้า และในทางตรงข้ามแก่นของแจ๊สก็ถูกลดไปด้วย สัมผัสสวิงลดลง สเกลบลูส์น้อยลง การแสดงคีตปฏิภาณน้อยลง รวมถึงการร้องในแนวแจ๊สก็ลดลงไปด้วย (กลายเป็นร้องแบบป๊อปธรรมดา) เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้ที่อนุรักษ์นิยมก็มักดูแคลนฟิวชันในยุคหลังนี้อยู่ไม่ น้อย .. อย่างไรก็ตามเพลยฟิวชันยุคหลังกลับได้รับความนิยมค่อนข้างสูง ศิลปินแจ๊สในแนวหลักหลายคนก็หันมาเล่นดนตรีในแนวนี้ด้วย เช่น จอร์จ เบนสัน (George Benson) ซึ่งเดิมเล่นกีตาร์ในแนว เวส มอนต์โกเมอรี (Wes Montgomery) ก็ลดความจัดจ้านลง เจือริทึมแอนด์บลูส์เข้าไปจนกลายเป็นนักดนตรีที่โด่งดัง

ค่ายเพลงที่ โด่งดังในฟิวชันยุคหลังนี้ได้แก่ จีอาร์พีเรคอร์ดส (GRP Records) ซึ่งก่อตั้งโดย เดฟ กรูสิน (Dave Grusin) และ ลาร์รี โรเซน (Larry Rosen) ตัวของกรูสินเองก็เป็นนักดนตรีที่ผลิตงานเพลงออกขายด้วย จีอาร์พีมักสร้างงานดนตรีที่มีสุ้มเสียงเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เรียกว่า ได้ยินก็บอกได้ว่าเป็นเพลงของค่ายนี้ นักดนตรีของ จีอาร์พี นอกจากกรูสินแล้ว ก็มี ลาร์รี คาร์ลตัน (Larry Carlton) ลี ริทนาวร์ (Lee Ritenour) ทอม สก็อตต์ (Tom Scott) เดวิด เบนัวต์ (David Beniot) ส่วนวงดนตรีในสังกัดก็มี สไปโรไจรา (Spyrogyra) อคูสติก อัลเคมี (Acoustic Alchemy) สเปเชียล เอ็ฟเฟกต์ (SFX) เป็นต้น

นอกค่ายจีอาร์พี ยังมีนักดนตรีในสายเดียวกันนี้อีกหลายคน เช่น เอิร์ล คลูห์ (Earl Klugh) โจ แซมเปิล (Joe Sample) โบนี เจมส์ (Bony James) เดฟ คอซ (Dave Koz) เคนนี จี (Kenny G) หรือหน้าใหม่ๆ ในยุคหลังเช่น ไดอาน่า ครอลล์ (Diana Krall)

จนถึงตอนนี้ดนตรีแนวฟิวชันยุคหลังนี้ยังไม่สามารถแตกแขนงไปในทิศทางใหม่ๆ ได้ จนอาจกล่าวได้ว่า ฟิวชันมาถึงจุดอิ่มตัวและถึงทางตันแล้ว อย่างไรก็ตาม มีความพยายามหาสุ้มเสียงใหม่ๆ จากฟิวชันเหมือนกัน เช่น แอซิดแจ๊ส (Acid Jazz) หรือกรูฟแจ๊ส (Groove Jazz) ซึ่งเป็นผลการผสมระหว่างแจ๊ส โซล ฟังกี้ และฮิปฮอป เช่น เจมีรอไคว (Jemiroquai) อีกแนวที่ใกล้กับแอซิดแจ๊สคือ นูแจ๊ส (Nu Jazz) หรือ อิเล็กโทรแจ๊ส (Electro-Jazz) ซึ่งเกิดในปลายทศวรรษ 1990 โดยนำเนื้อหนังของแจ๊สมาผสมผสานด้วยดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องสังเคราะห์เสียง เช่น วงอิเล็กโทรนิกา (Electronica)

แจ๊สญี่ปุ่น

ญี่ปุ่น เป็นประเทศที่บริโภคดนตรีแจ๊สมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก ในญี่ปุ่นมีคลับแจ๊สดังๆ เหมือนอเมริกา มีนักดนตรีแจ๊สหมุนเวียนมาเล่น หรือจัดคอนเสิร์ตตามหัวเมืองใหญ่ๆ อยู่อย่างต่อเนื่อง หลังๆ นักดนตรีแจ๊สฝั่งอเมริกาและยุโรปข้ามฝั่งมาหากินในญี่ปุ่นมากขึ้น เช่น บ็อบ เจมส์ (Bob James) ก็เคยทำงานดนตรีร่วมกับ เคโกะ มัตสุอิ (Keiko Masui) นักเปียโนแจ๊สชื่อดังของญี่ปุ่น .. ดนตรีแจ๊สญี่ปุ่นได้รับการถ่ายทอดมาจากอเมริกาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ทศวรรษ 1920 จนมาสะดุดเมื่อสงครามโลกครั้งที่สองเพราะทางการสั่งห้ามดนตรีแจ๊ส (และดนตรีตะวันตก) .. แจ๊สในญี่ปุ่นกลับมาอีกครั้งก็เป็นยุคบ็อพซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก รวมถึงแขนงต่างๆ ของบ็อพด้วย

ดนตรีแจ๊สในญี่ปุ่นเวลานี้เป็นยุคของ ฟิวชัน อาจเพราะเหตุผลว่าติดหูได้ง่ายและสนุกสนาน .. อย่างไรก็ตาม สุ้มเสียงฟิวชันของญี่ปุ่นมีกลิ่นไอความเป็นเอเซียผสมอยู่ไม่น้อย รวมถึงสัมผัสของเจ-ร็อค (J-Rock) ก็มีปรากฏในดนตรีฟิวชันญี่ปุ่นเช่นกัน ขนาดที่ว่าใช้ ‘สแตร็ต’ กรีดแทน ตระกูล ES หรือ เลส พอล ก็เคยเห็นมาแล้ว ซึ่งไม่ผิดธรรมเนียมอะไร เพียงแต่มันบ่งบอกบุคลิกเพลงได้เหมือนกัน ด้วยเหตุดังกล่าวดนตรีแจ๊สญี่ปุ่นจึงมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในทำนองเดียวกับ เจ-ป๊อป และ เจ-ร็อค … วงดนตรีแจ๊สญี่ปุ่นที่ได้รับความนิยมสูงได้แก่ แคสิโอเปีย (Casiopea) ที-สแควร์ (T-Square) และ จิมซาคุ (Jimsaku) เป็นสามหัวหอกหลัก ระยะหลังทั้งสามวงออกทัวร์ต่างประเทศบ่อยครั้ง ร่วมงานกับนักดนตรีตะวันตกหลายคน

แจ๊สในไทย

ดนตรีแจ๊สใน ประเทศไทยอาจจะไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนักในกลุ่มวัยรุ่น (aka. เด็กแนว) นักดนตรีจึงมีไม่มาก ยิ่งนักร้องแจ๊สแท้ๆ ในเมืองไทย แทบไม่เหลือเลย .. นักดนตรีแจ๊สในไทยผมไล่ได้เพียงสายฟิวชัน เริ่มต้นจาก อินฟินิตี้ เทวัญ ทรัพย์แสนยากร ภูษิต ไล้ทอง ที-โบน กลุ่มนี้หาเพลงฟังได้ยากแล้ว ส่วนที่สดใหม่ก็จะมี โก้-เศกพล อุ่นสำราญ ซึ่งเคยฝึกกับอินฟินิตี้ และเป็นสมาชิกรุ่นก่อตั้งวงบอยไทย ก่อนจะออกอัลบั้มของตัวเอง ที่ได้ยินอีกคนคือ ดร.กะทิ-สิราภรณ์ มันตาภรณ์ นักกีตาร์แจ๊สแนวละตินฝีมือดีที่มีความคิดอ่านแกร่งกร้าวมากๆ

ในอีก ด้านหนึ่ง ไม่ใช่ว่าคนไทยไม่สนใจดนตรีแนวนี้ จริงๆ มีผู้ฟังคนไทยอยู่กลุ่มใหญ่ทีเดียวที่ชื่นชอบดนตรีแจ๊ส สังเกตได้จากงานคอนเสิร์ตแจ๊ส และขาประจำผับแจ๊สในกรุง และขาประจำห้องแจ๊สใน pantip.com โดยส่วนใหญ่มักนิยมฟิวชัน ละติน ฟังก์ ซึ่งฟังง่ายกว่า จะมีที่ฟังบ็อพหรือสแตนดาร์ดอยู่ประปราย

Jazz up my life

อย่าง ที่เคยบ่นใน blog ไปแล้วว่า ผมเริ่มต้นกับเทปผีพีค็อก (ได้รับอกุศลบุญทางดนตรีจากเทปค่ายนี้อย่างมาก รองลงมาคงเป็นแวมไพร์เรคอร์ด :P) และเริ่มต้นฟังฟิวชันกับอินฟินิตี้ราวๆ สิบกว่าปีก่อน (สมัยไนท์สปอตและ WEA) และค่อยๆ ขยายออกไปในแนวอื่น หาฟังจากอัลบั้มที่ดังๆ อย่าง Bitches Brew, Kind of Blues ของไมล์ส เดวิส Portrait in Jazz ของ บิลล์ อีแวนส์ Virtuoso ของ โจ แพส ฯลฯ อัลบั้มพวกนี้ผมฟังเป็นตัวอ้างอิงเป็นหลัก ไม่เกี่ยวกับชอบหรือไม่ชอบ ฟังอย่างตั้งใจหาเนื้อหนังกันเลย .. และเอาเข้าจริงๆ ก็ไม่ค่อยชอบฟังแจ๊สที่เนื้อหาอิ่มมากๆ อย่างอัลบั้มอ้างอิงพวกนี้ บางเพลง ฟังแล้วมึน เครียดจนปวดหัวไปเลยก็เคยเป็นมาแล้ว

เพลงที่ชอบฟังก็เลย กลายเป็นเพลงที่แจ๊สไม่จัดจ้านมาก ในแนวฟิวชัน ละติน adult contemporary และนิวเอจ ที่โปรดปรานเป็นพิเศษ ก็มี ที-สแควร์, ลี ริทนาวร์, บ็อบ เจมส์, ลาร์รี คาร์ลตัน, โฟร์เพลย์, แคสิโอเปีย, เอิร์ล คลูห์, จอร์จ วินสตัน ศิลปินไทยก็ไม่พ้น อินฟินิตี้ บอยไทย และ โก้ ส่วน ดร.กะทิ ไม่เคยฟังงานเต็มๆ แต่ได้ฟังแสดงสด ซึ่งชอบเพราะเป็นเพลงของ อันโตนิโอ คาร์ลอส โจบิม (Antonio Carlos Jobim) เป็นทุนอยู่แล้ว

แผ่นซีดี.. เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยได้ซื้อเท่าไหร่ แต่ซื้อทีก็ทุ่มทุนสร้างถล่มทลายเหมือนกัน .. ถ้าจะให้ตระเวนหาก็คงมีที่ เจไดมิวสิค ROX ตรงข้ามพันธุ์ทิพย์ วาเลนไทน์ทุกสาขา (เข้าไปดูห้องแจ๊สนะครับ ตรงหน้าร้านมันมีแต่แดนส์กระจาย) ทาวเวอร์เรคอร์ดสก็มี .. ที่ขอนแก่นมีร้านของอาเจ็กติดๆ ร้านเคี้ยง ถ.ศรีจันทร์ .. ร้านนี้ผมซื้อตั้งแต่เทปผีพีค็อกที่อาเจ็กขายอยู่แถวถนนหน้าเมืองก่อนจะย้าย มาร้านปัจจุบัน

ดีวีดีคอนเสิร์ตแจ๊สระยะหลังๆ มีเข้ามาเยอะขึ้น แผ่นถูกลิขสิทธิ์ของบริษัท United Home Entertainment ราคาไม่แพงกว่าของเถื่อนเท่าไหร่ บางร้านขายถูกกว่าของเถื่อนอีก หาซื้อได้ตามร้านซีดี ดีวีดี และห้างไอทีทั่วไป หรือไม่ก็สั่งออนไลน์กับเจไดมิวสิคได้ .. ส่วนแผ่นเถื่อน แม่สาย มาเลย์ คงรู้แหล่งกันอยู่แล้ว

หากจะเอาบรรยากาศตามผับ เวลานี้ได้ยินกล่าวถึงบ่อยครั้งมีสองแห่งคือที่ แซ็กโซโฟนผับ อนุสาวรีย์ชัยฯ และบราวน์ซูการ์ หลังสวน ทั้งสองร้านมีดนตรีผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนในหนึ่งสัปดาห์ ชอบสไตล์ไหนเป็นพิเศษควรเลือกวันด้วย .. อืมม … นัดเจอกันเลยดีมั้ยครับ :)


References

  1. อนันต์ ลือประดิษฐ์, Jazz อิสระภาพทางดนตรีของมนุษยชาติ, เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป ISBN 974-392-991-6
  2. ประทักษ์ ไฝ่ศุภการ, ฤาจะอ่อนหวานปานแจ๊ส, สำนักพิมพ์สามัญชน, ISBN 974-7607-44-1
  3. ประทักษ์ ไฝ่ศุภการ, ฤาจะร้อนเร่าเท่าแจ๊ส, สำนักพิมพ์สามัญชน, ISBN 974-7607-46-8
  4. Verves Records
  5. GRP Records
  6. The Island of Jazz